'ซินเคอหยวน' ติดเงื่อนตายเหล็กตก มอก. ดิ้นลุยธุรกิจในไทย

05 กรกฎาคม 2568
'ซินเคอหยวน' ติดเงื่อนตายเหล็กตก มอก. ดิ้นลุยธุรกิจในไทย
  • การดำเนินคดี "ซินเคอหยวน" และเครือข่าย แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินในเรื่องฝุ่นแดงเกือบ 60,000 ตัน ที่ครอบครองโดยไม่แจ้ง และมีการขนย้ายผิดกฎหมาย
  • ส่วน สมอ. ดำเนินคดีเหล็กไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งพบจากการตรวจสอบหลังเหตุถังแก๊สระเบิดเมื่อเดือนธันวาคม 2567. คดีถูกส่งให้ DSI ซึ่งได้ออกหนังสือสอบสวนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานแล้ว
  • รมต.อุตสาหกรรม มีเป้าหมายชัดเจนว่าการผลิตเหล็กต้องเป็นไปตามมาตรฐาน อีกทั้งการผลิตจากเตา IF ควบคุมคุณภาพได้ยาก และเกิดปัญหาการทุ่มตลาด
  • กอุตสาหกรรมจะเดินหน้าตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน และการลักลอบจดแจ้งสินค้าผิดกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน

นับตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเดือนกันยายน 2567 หนึ่งในนโยบายที่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม คือ การจัดการกับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น สายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า และ เหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กเส้นก่อสร้าง ภาคสังคมได้รับทราบข่าวสารการจัดการกับเหล็กเส้นที่ไม่เป็นไปตาม มอก. อยู่เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ บริษัท ซินเคอหยวน ถือเป็นกรณีตัวอย่างจากการตรวจเหล็กที่ใช้สร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 พบว่ามีเหล็ก 3 ชนิด ตกค่ามาตรฐานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยเฉพาะกรรมวิธีผลิตแบบ IF ตกทดสอบค่ามวลต่อเมตร (เหล็กเบา) 

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้สั่งปิดโรงงานและส่งเรื่องให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)  ดำเนินคดี พร้อมทั้งเพิกถอนสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และดำเนินคดีในเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญไม่น้อยกว่าตัวเหล็ก เช่น เรื่องฝุ่น ที่มีครอบครองเกือบ 60,000 ตัน โดยที่ไม่ได้มีการแจ้ง มีการขนย้ายที่เข้าข่ายผิดกฏหมาย ได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดตั้งข้อหากับ ซินเคอหยวน และบริษัทที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งให้ DSI ดำเนินคดี ทั้งหมด 1,016 ข้อหา 

แหล่งข่าวจากวงการเหล็ก เปิดเผยว่า ขณะนี้ ซินเคอหยวน ได้เดินสายเพื่อชี้แจงในข้อกล่าวหาของกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่ยอมรับผลการตรวจค่าเหล็กจากกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงการดำเนินการเพื่ออุทธรณ์กรณี BOI เพิกถอนสิทธิประโยชน์เป็นการชั่วคราวด้วย รวมทั้ง ยืนยันว่าดำเนินธุรกิจอย่างสุจริต โปร่งใส ปฏิบัติตามกฎหมายไทย และมีการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลย้อนหลัง 5 ปี เป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท 

น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้าชุดตรวจการณ์สุดซอย หรือ “ทีมสุดซอย” กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับกลุ่มโรงงานเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะกรณีของซินเคอหยวนที่เป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินการขั้นเด็ดขาดเมื่อพบว่ามีการดำเนินธุรกิจที่ไม่ตรงกับการจดแจ้ง

ในส่วนของการดำเนินคดี "ซินเคอหยวน" จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก โดยหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ คือ

1. กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ซึ่งดำเนินคดีกับซินเคอหยวนและเครือข่าย โดยได้ดำเนินคดีอย่างรุนแรงกับซินเคอหยวน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 1,016 คดี ซึ่งเป็นการดำเนินคดีในเรื่องของ "ฝุ่นแดง" ที่มีครอบครองเกือบ 60,000 ตัน โดยที่ไม่ได้มีการแจ้ง มีการขนย้ายที่เข้าข่ายผิดกฏหมาย

2. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ที่ได้ดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นผลจากการเข้าตรวจการณ์ในช่วงที่มีเหตุถังแก๊สระเบิดเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ดังนั้น ตอนนี้เรื่องคดีได้ส่งให้กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเรื่องเอกสาร ส่วนในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานนั้น DSI ได้ออกหนังสือสอบสวนให้เรียบร้อยแล้ว

น.ส.ฐิติภัสร์ ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นการถล่มของอาคาร สตง. ที่หลายฝ่ายจับตานั้น ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ทำหน้าที่ในการรับรองผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ดังนั้น ในส่วนของการดำเนินคดีกับสินค้าสวมสิทธิ์จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม แม้คณะกรรมการของนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งขึ้นมาโดยมีกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นประธาน ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องตึกถล่มจะว่าอย่างไร ก็เป็นเรื่องของท่าน 

"ในฐานะกระทรวงอุตสาหกรรม เรายืนยันชัดเจนว่าเราได้มีการตรวจติดตามเหล็กจากกระบวนการหลอมจากเตาหลอม IF (Induction Furnace) ทั้งหมด 10 โรงงานเรียบร้อยแล้ว"

สำหรับผลการตรวจสอบพบว่า เกินครึ่งของโรงงานเหล็ก IF ทั้ง 10 แห่ง ที่ทำการตรวจ พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และกระบวนการผลิตก็ไม่เป็นไปตามที่จดแจ้งไว้ตั้งแต่เริ่มขอใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จึงยืนยันว่ากระบวนการในการยกเลิก มอก. ยังคงดำเนินต่อไป ทีมสุดซอยเราไม่หวั่นไหวแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กระบวนการตรวสอบเหล็กที่ใช้สร้าตึก สตง. นั้น  DSI ได้มาขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ สมอ. ในการเก็บตัวอย่างเหล็กจากสถานที่เกิดเหตุอาคาร สตง. ถล่ม และผลการตรวจได้ออกมาเรียบร้อยแล้วตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้แถลงไป โดยได้ส่งผลตรวจให้ DSI แล้ว

ดังนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองจะนำเอาไปใช้หรือพิจารณาในการประกอบคดีตึกสตง.ถล่มหรือไม่ก็เป็นเรื่องของกรมฯ แต่กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะที่เรากำกับดูแลผลิตภัณฑ์ จะยังดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานของมอก. อย่างมั่นคง

สำหรับรายชื่อโรงงานที่ถูกปิดและหยุดกระบวนการผลิตไปแล้วนั้น น.ส.ฐิติภัสร์ ยืนยันว่า ซินเคอหยวนมี 2 แห่ง ที่ กรอ. ออกคำสั่งให้ปิดอยู่คือ อำเภอบ้านค่าย เป็นโรงงานผลิตเหล็กเส้น ส่วนอีกสาขาอยู่ที่อำเภอปลวกแดง ผลิตเหล็กแผ่น ได้ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2564 และยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่นเดียวกับ บริษัท BNSS สตีล กรุ๊ป และบริษัท ชลบุรี สเปเชียล สตีล กรุ๊ป ที่ถูกปิดทั้งหมด ในส่วนของบริษัท เอบี สตีล จำกัด ได้ถูกหยุดบางกระบวนการผลิต เนื่องจากตรวจสอบพบว่ากล่องควบคุมมลพิษไม่เป็นไปตามที่ พ.ร.บ. โรงงานกำหนด

นอกจากนี้ ในส่วนของโรงงานที่มีเตาหลอม IF พบว่ามีทั้งหมด 11 แห่ง โดยมี 1 โรงงานที่เป็นบริษัทของคนไทย ซึ่งหยุดผลิตเหล็กเส้นไปสักพักแล้วเนื่องจากสู้ตลาดจีนไม่ไหว ส่วน 10 โรงงานที่เหลือทีมสุดซอยได้เก็บตัวอย่างมาทั้งหมด และผลการตรวจออกมาแล้ว 6 โรงงาน โดยพบเหล็กเส้นที่ตกมาตรฐานทั้งหมด 5 โรงงานจาก 6 โรงงานนี้ถูกสั่งปิดไปแล้ว ส่วนอีก 4 โรงงานที่เหลืออยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบ

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เป้าหมายของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คือ "การผลิตเหล็กต้องเป็นไปตามมาตรฐาน" ดังนั้น เมื่อพบว่าผลการผลิตจากเตา IF มีกระบวนการผลิตที่ควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานได้ยาก และยังพบปัญหาการทุ่มตลาดที่ผลิตสินค้าในกลุ่มที่ต่างกัน แต่กลับเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด ทำให้เกิดการทุ่มตลาดอย่างรุนแรง

"กระทรวงอุตสาหกรรมจะยังคงเดินหน้าตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน และการลักลอบจดแจ้งสินค้าที่ผิดกฏหมายเพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความปลอดภัยของประชาชนคนไทยต่อไป"


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.